... คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก คนฉลาดเอาปากไว้ที่ใจ …
พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) วัดพุทธบาทตากผ้า ป่าซาง ลำพูน
คน…. โง่เอาใจไว้ที่ปาก คนฉลาดเอาปากไว้ที่ใจ, คนฉลาดเอาปากไว้ที่ใจจะปากหนัก(ไม่ค่อยจะพูดมาก) คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก ใจมันไม่อยู่ที่ตัวใจมันไปอยู่ที่ปาก มันจึงพูดไปวันยังค่ำ คนฉลาดเอาปากไว้ที่ใจ ความสำคัญของตัวเองที่จะเข้าใจกันไว้
ตัวของคนเราแต่ละคนมีความสำคัญ ๆ อย่างไร? สุดแท้แต่จะพิจารณา ความคิดพิจารณาต่างๆ กันตามทัศนะของใครของมัน ความสำคัญที่ตัวเอง……ส่วนมากผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา และอบรมมักจะสำคัญมั่นหมายตนเองว่า เป็นผู้รู้ เป็นผู้เก่งกว่าเขา เป็นผู้ที่มีมั่งมีกว่าเขา เป็นผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่าเขา เห็นคนอื่นเป็นคนต่ำต้อยไปเสียหมดเห็นหน้าคน เป็นหน้าสัตว์ไปเสียหมด ! ความสำคัญอย่างนี้เป็นความสำคัญเข้าใจผิดๆ อย่างมากที่สุด
เพราะเป็นเหตุให้เกิดมานะ จองหอง ทะนงตัว เป็นไฝฝ้า หรือเป็นรั้วปิดบังความดี จะทำความดีไม่ได้ แล้วก็จะไม่ได้ความร่วมมือจากใคร ๆ ก็ไม่สอนอีกแล้ว การทะนงตัวการมีทิฐิมานะ ใครเห็นแล้วรู้แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ตายก็ปล่อยให้ตายไป ภาษาธรรมะว่าเป็นไฝฝ้าปิดบังความดี ความจริงน่าจะได้ดีแต่ก็ดีไม่ได้ การมีทิฐิมานะ การทระนงตัว ความจองหองมันไปปิดบังเอาไว้หมด ถือตัวเป็นใหญ่ ว่าเป็นผู้รู้ มั่งมี ผู้ดี มียศสูงศักดิ์ กว่าเขา สำคัญว่าคนอื่นต่ำต้อยกว่า เป็นความสำคัญผิด เป็นเหตุให้เกิดมานะทิฐิ จองหอง เป็นไฝฝ้าปิดหูบังตาไม่ได้บรรลุความดี
ผู้ใดเป็นดังนี้ คนทั้งหลายจะต้องตีตัวออกห่าง ใคร ๆ ก็ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เรื่องนี้จึงอยากฝากให้ทุกคนจงคิดพิจารณาเห็นความสำคัญที่ตัวเอง ๆ ที่สำคัญว่าถ้าเราได้ดี ทำดี มันจะดีไปเสียทุกอย่าง ถ้าคิดผิดทาง สำคัญมั่นหมาย ตัวเรารู้ตัวเราดี ตัวเรามีอะไร ๆ ที่ยิ่งกว่าคนอื่น เห็นคนอื่นต่ำต้อยกว่า เป็นการสำคัญผิด เป็นเหตุให้เกิดมานะทิฐิจองหอง ไม่ยอมลดข้อให้ใครในที่สุดจะมีความได้อย่างไร
ใครคนใดที่เป็นอย่างนี้ ยากที่ใครจะชอบ ใครอยู่ใกล้ก็จะตีตัวออกห่างและไม่คิดจะอยู่ใกล้ แล้วเขาจะกลายเป็นคนที่เป็นปัญหาของสังคม เป็นที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย ภาษาธรรมะเรียกว่า "เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองหมักดองอยู่ในสันดานของเขา คนดีสละละเสียซึ่งความมั่นหมาย"
แต่ตรงกันข้าม ถ้าใครมาเห็นความสำคัญที่ตัวเองด้วยการพินิจพิจารณาตามหลักที่ว่า "อัตตัญญุตา" คือ ความรู้จักตนเองว่า มาด้วยชาติ ว่ามาด้วยตระกูล ๆ ไหน ? สูงหรือต่ำอย่างไร ? ว่าด้วยยศศักดิ์ เรามียศ มีวิทยฐานะอย่างไร เป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เป็นครูบาอาจารย์ เป็นมหาเปรียญ เป็นเจ้าคุณ หรือพระครู หรือเป็นลูกวัดเขา เป็นลูกน้องเขา อะไรเหล่านี้เป็นต้น แล้วมาตั้งตัวตั้งตนอยู่ดี ตามฐานะของตน อยู่พอดิบพอดี กิริยาเป็นระเบียบเรียบร้อย ละมุนละไมมีศีลาจารวัตร งดงาม ใครเห็นก็น่าดูน่ารัก พูดจาปราศรัยออกมาใครได้ยินก็น่าฟัง น่าเอ็นดู พวกเด็ก ๆ ก็มีความเคารพ มิตรสหายก็มีความรักใคร่ ผู้หลักผู้ใหญ่มีความกรุณาเอ็นดู …….คนที่วางตัวอย่างนี้ สำคัญมั่นหมายตัวอย่างนี้นับว่าเป็นคนดี ไม่มีข้าศึกศัตรูที่ไหนมา เด็ก ๆ ก็มีความเคารพ มิตรสหายรุ่นเดียวกัน หรือต่างรุ่นก็รักใคร่ ผู้ใหญ่ก็ให้ความเอ็นดู เขาก็จะได้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่อยู่ร้อนนอนทุกข์ เป็นคนดีมีชื่อเสียง ใครเขาก็สรรเสริญเยินยอด้วยความจริงใจ
"อัตตัญญูตา" คือ ความรู้จักตน และก็ประพฤติปฏิบัติให้สมกับฐานะของตัว ว่าฐานะของเราเป็นอย่างไร? และวัด บ้าน โรงเรียน สถานที่ราชการ เราควรวางตัว ทำตัวอย่างไร มันมีคนพร้อมหมด เช่น พระเณร ก็มี ชาวบ้าน นักเรียนก็มี ทหารตำรวจ นายสิบนายพัน ปริญญาตรี โท เอก ก็มี นี่เป็นวิทยฐานะและใครก็ไม่ได้ถือตัวว่าเรามีวิทยฐานะอย่างไร อ้นนี้ขอฝากไว้เป็นข้อคิด อยู่พอเหมาะพอดีมีศีลาจารวัตรอันงดงาม สงบเสงี่ยมเจี่ยมตัว การพูดจาปราศัยก็พูดเฉพาะที่จะเป็น ที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพูด การที่จะพูดจาอะไรจะต้องนึกคิดพิจารณาเสียก่อน ใช้สติสัมปชัญญะไตรตรองให้รอบคอบเสียก่อนว่าสมควรหรือไม่ อย่างนี้เป็นการดี จะทำอะไร อย่าให้ขาดสติสัมปชัญญะ อย่าทำอะไรเหมือนคนตาบอด อย่าให้เข้าทำนองที่กล่าวว่า "คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก" คือ คิดอะไรก็ไหลออกปากทันที จะไม่ดี
ส่วน "คนฉลาดเขาเอาปากไว้ที่ใจ" คือ เวลาเขาจะพูด เขาจะคิดไตร่ตรอง ย้อนแล้วย้อนอีกว่าจะมีผลดี ผลเสีย และมีผลกระทบทั้งส่วนตนเองและคนรอบข้าง อย่างไร หรือไม่ ? ซึ่งเขาจะกลั่นกรองเสียก่อนจึงพูดออกมา อันนี้ให้จำใส่ใจเอาไว้ นี้คือ "อัตตัญญุตา" คือการรู้จักวางตนหรือทำตนอย่างไร?
นอกจากรู้จักตน ตั้งตนให้อยู่พอเหมาะพอดี แล้วก็จงพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเองได้ด้วย อย่าได้คอยแต่จะพึ่งพาอาศัยคนอื่น เช่นว่าเราเป็นเด็กไม่รู้เดียงสา ตอนนั้น เราก็จะพึ่งพาอาศัยพ่อแม่เราอยู่ พอโตขึ้นมาเราก็พึ่งครูอาจารย์ เมื่อมีงานการอะไรเราก็พึ่งเจ้าของกิจการ และเพื่อน มิตรสหาย แต่ผู้ที่เป็นที่พึ่งของเราอย่างนั้นเป็นได้บางอย่าง และชั่วครั้ง ชั่วคราว พึ่งได้ตามแต่เขาจะกรุณา เช่นพ่อแม่ เราพึงท่านได้ ท่านให้ความอุปการะคุณเลี้ยงดูทุกอย่างก็แต่ในช่วงที่ท่านยังแข็งแรงหรือเมื่อท่านยั งมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อไม่อยู่ในฐานะดังกล่าวแล้ว เราก็ไม่สามารถพึ่งได้
ครูอาจารย์ก็เหมือนกันเป็นที่พึ่งของเราก็ได้เพียงการแนะนำพร่ำสอน ถ้าเราเป็นนักเรียนที่ถูกดื้อถือรั้น สอนสั่งไม่ปฏิบัติตาม ครูอาจารย์ก็จะเอาเราคือ จะไม่เมตตา หรือถ้าท่านเมตตาก็เป็นได้ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตของเราเมื่อยังเป็นนักเรียน แต่เมื่อเราจบมาแล้ว ๆ เรายังจะต้องพึ่งครูตลอดไปคงไม่ได้
ส่วนรายอื่น ๆ ก็เช่นกัน มีเพื่อน มิตรสหาย เจ้านายที่ทำงาน หรือผู้คนรอบข้างในสังคม ถ้าเราปฏิบัติตัวเป็นคนดี ใคร ๆ เขาก็อยากคบค้าสมาคม หรือเป็นที่พึ่งพาอาศัย ในยามที่เราเดือดร้อน บางคนแม้แต่คำแนะนำเขาก็ไม่อยากช่วยเหลือเพราะเราไม่เป็นคนดีนั่นเอง …..ดังนั้นการพึ่งที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดในชีวิตก็คือ "การทำตัวเองให้ดี และก็พึ่งตัวเอง"
ข้อสำคัญที่สุดคือ การรู้จักตนเอง ควรที่จะได้นึกเน้นให้มันลึกเข้าไป พยายามฝึกหัดดัดสันดานของตัวเอง พยายามปกครองตนเองให้มันได้ ให้ตนเองเป็นที่พึ่งของตนเองได้จริง ๆ
เมื่อเรารู้แล้วอย่างนี้ว่าเราจะทำอย่างไร? เราก็พินิจพิจารณาความสำคัญที่ตัวของเราเอง จึงขอฝากไว้เป็นที่พิจารณาว่าตัวของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ อะไรที่ไหน ทุกสิ่งทุกอย่าง ร้ายดีถี่ห่างอยู่ที่ตัวของเราทั้งหมด เขาจะรักเรา หรือว่าชังเราก็อยู่ที่ตัวของเรานี่แหละ ….
จงมองดูที่ตัวของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากไ ด้ ถ้าหากว่าจะติคนอื่นก็ขอให้ติตัวเราเสียก่อน จะโทษคนอื่นก็จงโทษตัวเราก่อน ถ้าตัวเราดีแล้วใครเล่าเขาจะมาติ มาด่า มาว่าเรา ทำร้ายเรา ก็ไม่มี
สิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น กับเราเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากตัวของเรานี่เอง จงพยายามโทษที่ตัวเอง จงอย่าลืม "คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก คนฉลาดเอาปากไว้ที่ใจ" จงพยายามฝึกหัดดัดสันดานตัวเองเข้าไว้ ให้เด็กเห็นเกิดความเคารพรัก ให้เพื่อน ๆ เห็นก็รักใคร่ ให้ผู้ใหญ่เห็นก็เอ็นดู นี้จึงนับว่าได้ทำตัวเองให้มีคุณค่าของความเป็นคนขึ้นมา………
………….สุภาษิตท้ายบท…
" โมกโข กัลยาณิยา สาธุ แปลว่า การเปล่ง/กล่าว วาจางาม ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ"
ขอบคุณ..ลานธรรมจักร
"มุตวา ตัปปติ ปาปิกัง แปลว่า คนใดพูดวาจาชั่ว ย่อมเดือนร้อน"
Credit:
http://www.teenee.com/